งานรื้อถอน

สาระน่ารู้เกี่ยวกับเรื่องการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ

งานรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง

1.งานรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างชนิดที่เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก : งานรื้อถอนสะพานคอนกรีต,ตัดถนนคอนกรีต,ตัดพื้นคอนกรีต,ตัดเสา คอนกรีต,ตัดคานคอนกรีต,งานรื้อถอนอาคารคอนกรีต,งานรื้อถอนโรงงานที่สร้างด้วยคอนกรีต,รื้อแท่นเครื่องจักร,รื้อเสาทางด่วน หรือ อื่น ๆ การรื้อถอนอาจรื้ออกทั้งหมดจากฐานรากจนถึงยอดสุดของโครงสร้างคอนกรีตนั้น ๆ หรืออาจรื้อถอนออกเฉพาะจุดที่ต้องการรื้อออกก็ได้ซึ่งอาจมีสาเหตุหรือความจำเป็นเฉพาะอย่าง
1.1 ถนนคอนกรีตหรือพื้นโรงงานที่ชำรุด แตกร้าวบางส่วนก็ทำการตัดส่วนที่ชำรุดหรือแตกร้าวนั้นออกแล้วทำการวางเหล็กและเทคอนกรีต กลับเข้าที่เดิม 
1.2 พื้นโรงงานอาจยังไม่แตกร้าวเสียหายแต่มีความจำเป็นต้องรื้อออกบางส่วนหรือทั้งหมดเพื่อต้องการพื้นที่นั้น ๆ ทำประโยชน์อื่น เช่น การก่อสร้างแท่นวางเครื่องจักรใหม่,ก่อสร้างทำรางระบายน้ำใหม่หรือเพื่อการดัดแปลงต่อเติมอื่น ๆ อีกมากมาย 
1.3 งานรื้อถอนออกเพราะโครงสร้างคอนกรีตนั้น ๆ ขาดมาตรฐาน โครงสร้างคอนกรีตข้างในมีโพรงอากาศ หรือรูพรุน,สเต้รง หรือความแข็งของ คอนกรีตไม่ได้มาตรฐาน,ก่อสร้างผิดแบบแปลน หรือ มีการเปลี่ยนแปลงแบบแปลนหลังจากก่อสร้างไปแล้ว,แบบเทหรือแบบหล่อคอนกรีตแตก ในระหว่างเทคอนกรีต ซึ่งทำให้เหล็กและรูปทรงคอนกรีตไม่เป็นไปตามแบบที่กำหนด,ชุดค้ำยันแบบเทคอนกรีต หัก พัง ในระหว่างเทคอนกรีต อย่างนี้เป็นต้น 

วิธีการรื้อถอนและเครื่องมือเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องในงานรื้อถอน 

วิธีการรื้อ,เครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้,ลำดับขั้นตอนในการรื้อสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งและจะมีความสัมพันธ์กันโดยตรงต่อราคาค่ารื้อถอน,ความปลอดภัยในการรื้อถอน,มลพิษที่เกิดจากงานรื้อถอน เช่น ฝุ่น,เสียง,แรงสั่นสะเทือนต่อโครงสร้างสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ใกล้เคียงตลอดจนระยะเวลาในการรื้อ ความปลอดภัยในงานรื้อ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยหลัก ๆ ในการเลือกวิธีการรื้อถอนและเครื่องมือที่ใช้ในงานรื้อถอนนั้น ๆ ซึ่งมีวิธีการและเครื่องมือเครื่องจักรที่มากมายและหลายวิธีให้เลือกใช้ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับความจำเป็นหรือปัจจัยหลาย ๆ อย่าง 
ตัวอย่างที่ 1 ต้องการรื้อพื้นคอนกรีต(ชั้น GROUND) หนา 30 ซ.ม. กว้าง 8 เมตร ยาว 15 เมตร และพื้นที่หน้างานอยู่ภายในอาคารโรงงานที่เครื่องจักรของโรงงานเป็นประเภทที่ต้องใช้ความละเอียดสูง เช่น เครื่องจักร CNC , เครื่องจักรประเภทหุ่นยนต์,ประเภทแขนกลต่าง ๆ ตลอดจนห้องคอมพิวเตอร์จะไม่ชอบแรงสั่นสะเทือนและฝุ่นละอองจากงานรื้อถอน 
ตัวอย่างที่ 2 เหมือนกับตัวอย่างที่ 1 ทุกประการ ผิดกันตรงที่ว่าพื้นที่หน้างาน ตย.2 นี้ อยู่ภายนอกอาคารโรงงานและค่อนข้างห่างจากอาคารโรงงานด้วยอาจไม่ซีเรียสเรื่องฝุ่นและแรงสั่นสะเทือนมากนัก คราวนี้เรามาลองพิจารณาดูกันว่าทั้ง 2 ตัวอย่างมีพื้นที่เท่ากัน จุดประสงค์ เดียวกัน คือ งานรื้อถอนพื้นออกเพื่อเทคอนกรีตกลับไปใหม่ เพื่อซ่อมแซมพื้นที่ที่แตกร้าวหรือชำรุดนั้น ๆ แต่อาจแตกต่างกันในความจำเป็นที่ไม่เหมือนกัน ตย.1 ซีเรียสเรื่องฝุ่นและแรงสั่นสะเทือนส่วน ตย.2 ไม่ซีเรียสเรื่องฝุ่นและแรงสั่นสะเทือนจากความจำเป็นที่แตกต่างนี้จึงนำไปสู่วิธีการรื้อถอนและการใช้เครื่องมือเครื่องจักร,ราคาค่าบริการที่แตกต่างกัน และ เวลาที่แตกต่างกัน 

ตัวอย่างตารางวิธีการวิเคราะห์เลือกใช้วิธีการรื้อถอน,และเครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้

 

 

วิธีการรื้อ

 

มลภาวะ

 

 

ราคาค่าบริการ

 

 

เครื่องมือ,เครื่องจักรที่ใช้

 

 

เวลา

 

ฝุ่น

 

เสียง

 

แรงสั่นสะเทือน

 

ตัดพื้นแล้วยกออก


 

ไม่มี


 

น้อยมาก


 

ไม่มี


ต.ร.ม.ละ

900 บาท


รถตัดพื้น

WALLSAW,WIRESAW


 

3 วัน


 

ใช้แบคโฮสกัด


 

มาก


 

ดังมาก


 

สะเทือนมาก


ต.ร.ม.ละ

180 บาท


 

รถแบคโฮติดหัวแย๊ก


 

2 วัน



หมายเหตุ ตารางการวิเคราะห์เลือกใช้วิธีการรื้อและเครื่องมือครื่องจักรตารางนี้ เป็นเพียงตัวอย่างที่นำมาเสนอเพื่อเปรียบเทียบเรื่องมลภาวะ ราคาและเวลาเท่านั้น งานรื้อถอนจริงอาจมีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขราคาค่าบริการขึ้น – ลง ตามปัจจัยอื่น ๆ - ความยากง่ายของงานรื้อถอน ความสะดวกในการทำงาน ระบบ SAFETY กี่เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้เป็นต้น 

จะเห็นได้ว่าพื้นที่ที่ทำการรื้อถอนอยู่ต่างที่ต่างบริเวณกันราคาค่ารื้อถอนและเวลาก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงด้วยสาเหตุเรื่อง มลภาวะ สาระน่ารู้เกี่ยวกับเครื่องมือรื้อถอน 

1.รถตัดคอนกรีต (FLOOR SAW)


รถตัดพื้นคอนกรีตขนาดใหญ่ 40แรงม้า


รถตัดคอนกรีต ขนาดกลาง 20 แรงม้า

   



รถตัดพื้นคอนกรีต ขนาดเล็ก 7.5 –10 แรงม้า ส าหรับตัดแร้มป์ ตัดจ้อน์ย
ตัดเพื่อการรื้อถอนความลึกไม่เกิน 20 เซนติเมตร


ใบตัดเพชรทรงกลม (DIAMOND SAW BLADE)



รถตัดพื้นคอนกรีต (FLOOR SAW)

     ลักษณะจะเหมือนรถทั่วไปมีล้อนำ 2 ล้อ และล้อขับ (ล้อตาม) 2 ล้อ ด้านหน้ามีเพลาขับใบตัดอาจจะมีหนึ่งข้างหรือบางรุ่นจะมี 2 ข้างใช้กับใบตัดเพชรทรงกลมสามารถตัดได้ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา เพลาขับใบตัดจะรับกำลังแรงบิดโดยตรงจากมอเตอร์ไฟฟ้า,หรือเครื่องยนต์(แล้วแต่รุ่น)ผ่าน สายพานส่งแรงถ้าเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าจะมีกำลังแรงม้าตั้งแต่ 3 แรงจนถึง 50 แรง ส่วนที่ใช้เครื่องยนต์ก็จะเริ่มตั้งแต่ 5.5 แรงจนถึง 64 แรงเช่นกัน ทีนี้กำลังแรงม้าของมอเตอร์ไฟฟ้าหรือของเครื่องยนต์ที่แตกต่างกันนี้ก็จะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับขนาดของใบตัด ซึ่งขนาดของใบตัดก็จะมีตั้งแต่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 32 เซนติเมตรไปจนถึง 2 เมตร ใบตัดเล็กก็จะใช้กับรถตัดคันเล็ก(กำลังแรงม้าไม่สูง)ใบตัดใหญ่ ๆ ก็จะใช้กับรถตัดคันใหญ่(กำลังแรงม้าสูง)นอกจากขนาดใบตัดจะมีความสัมพันธ์กับกำลังแรงม้าที่ขับเคลื่อนแล้วยังมีอีกอย่างที่สำคัญไม่ด้อยกว่ากัน คือ ความเร็วรอบในการตัด คงลดข้อสงสัยได้บ้างนะครับว่า ทำไมราคาค่าตัดคอนกรีตความลึกตั้งแต่ 1 –10 เซนติเมตร,10 –17 เซนติเมตร,17 –23 เซนติเมตรเรื่อย ๆ ไปจนถึง 38 –85 เซนติเมตร ราคาแต่ละกลุ่มไม่เท่ากันตัวเลขยิ่งสูง(ความลึกมาก)ราคาก็ยิ่งสูงตามไปด้วยเนื่องจากสาเหตุและปัจจัย 
ดังนี้ 
1. ราคาค่าใบตัดแต่ละกลุ่มมีราคาแพงที่แตกต่างกัน(ใบตัดเล็กราคาถูกกว่าใบตัดใหญ่) 
2. รถตัดพื้นที่ใช้ราคาค่าเสื่อมสภาพแตกต่างกัน(รถตัดคันเล็กราคาไม่สูงเท่ารถตัดคันใหญ่) 
3. ระยะเวลาที่ทำงานก็แตกต่างกัน คือ พื้นที่หนาและลึกจะใช้เวลาในการตัดที่นานกว่า 
4. พื้นคอนกรีตที่หนามาก ๆ เหล็กที่เสริมอยู่ข้างในเส้นจะโตมากและมีปริมาณที่มาก (สิ้นเปลืองใบตัดมาก) 
5. ราคาค่าขนย้ายเครื่องจักรที่แตกต่างกัน(รถตัดพื้นรุ่นใหญ่บางรุ่นรถกระบะบรรทุกไม่ไหว) 

รถตัดคอนกรีตที่กำลังแรงม้ามีน้อย 3 –7.5 แรงม้า ส่วนมากจะไม่นิยมใช้ตัดเพื่องานรื้อถอนแต่จะนิยมไว้ใช้ตัดคอนกรีตที่ลึกไม่มากนัก การตัดแร้มป์(RAMP), การตัดจ้อน์ย(JOINT), อาจตัดแล้วปล่อยทิ้งไว้เพื่อความสวยงามหรือเพื่อเป็นร่องช่วยระบายน้ำทางขึ้น-ลงแร้มป์ เพื่อลดการลื่นไถลของรถยนต์เมื่อพื้นเปียกน้ำ(ตัดแร้มป์ก้างปลา) หรืออาจตัดเป็นร่องแบ่งก้อนคอนกรีตเพื่อหยอดยางมะตอยอย่างนี้เป็นต้น รถตัดพื้นคอนกรีตทั้ง รุ่นเล็กและรุ่นใหญ่มีขายอยู่ทั่วไปในตลาดบ้านเราแต่อาจแตกต่างกันบ้างเรื่องราคา อาจเกี่ยวเนื่องมาจากเหตุปัจจัยเหล่านี้
- วัสดุที่ใช้ ตลับลูกปืน,เกรดของเหล็กที่ใช้ทำเพลาขับ, ความหนาของเหล็กที่ใช้ทำตัวถัง, ล้อและวัสดุล้อ, ยี่ห้อของมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์กำลังแรงม้าของมอเตอร์และเครื่องยนต์, มาตรฐานการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ บางที่อาจใช้โรงงานปั๊มขึ้นรูปมาตรฐาน(ตัวถัง) เพลาขับใช้เหล็กเกรดดี ๆ ผ่านเครื่อง CNC แล้วชุบแข็ง, ตลับลูกปืนต่าง ๆ ใช้ของดีของแท้ล้อนำและล้อตามใช้ดุมเหล็กหล่อเคลือบยูรีเทน อย่างนี้อาจแพงหน่อยแต่ใช้ได้นานคุ้มค่าไม่เสียง่าย แต่อย่างที่อยู่ตรงข้ามอาจเหมาะสำหรับการใช้งานไม่หนักมากนักราคาถูกกว่าเยอะแล้วแต่เลือกครับ- อ๊อปชั่นอื่น ๆ ระบบคอนโทรล, ระบบเตือน, ระบบนำเส้นตัดด้วยแสงเลเซอร์, ระบบปั๊มน้ำเลี้ยงใบตัด, ระบบขับเคลื่อนล้อแบบAUTOระบบวัดความลึกใบตัดในขณะตัด ถ้ามีระบบเหล่านี้ติดมากับรถตัดคอนกรีตคันนั้น ๆ ราคาก็จะเพิ่มสูงขึ้นอีกข้อจำกัดการใช้งาน รถตัดคอนกรีต, รถตัดพื้นคอนกรีต(FLOOR SAW)ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า รถตัดพื้นคอนกรีต FLOOR SAWมันจึงตัดได้เฉพาะคอนกรีตที่เป็นพื้นเรียบไม่สามารถตัดคอนกรีตที่รูปทรงแตกต่างจากพื้นเรียบได้ เช่น ตัดผนังคอนกรีตไม่ได้เพราะ ผนังไม่ใช่พื้น, ตัดเสาคอนกรีตไม่ได้เพราะเสาคอนกรีตอยู่แนวตั้งพื้นคอนกรีตอยู่แนวนอน 

เครื่องตัดผนังคอนกรีต (WALL SAW)

มีอยู่ 3 ชนิด คือ 
1.ชนิดที่ขับเคลื่อน และคอนโทรล ด้วยระบบไฟฟ้าทั้งหมด 
2. ชนิดที่ขับเคลื่อน และคอนโทรล ด้วยระบบไฮดรอลิคทั้งหมด 
3. ชนิดที่ขับเคลื่อนด้วย ระบบไฮดรอลิค แต่คอนโทรลด้วยระบบไฟฟ้า
ทั้ง 3 ชนิดนี้มีข้อเด่นและข้อด้อย ที่แตกต่างกันไปตามความรู้สึกของผู้ใช้งานแต่ละท่าน (อย่างนี้แรง อย่างนี้ไม่แรง) แต่ที่ทั้ง 3 ชนิดนี้เหมือนกันคือใช้กับใบตัดเพชรแบบทรงกลม สามารถใช้ใบตัดตั้งแต่ Ø 60 เซนติเมตรถึง Ø 180 เซนติเมตร สามารถตัดคอนกรีตได้ลึกตั้งแต่ 1 เซนติเมตรถึง 75 เซนติเมตร โดยชุดเพลาขับใบตัด, ชุดเดินราง,ชุดหมุนคอ จะถูกติดตั้งอยู่บอดี้เดียวกัน การใช้งานจะติดตั้งบนรางเลื่อน โดยลักษณะรางเลื่อนบางรุ่นก็เป็นเหล็ก บางรุ่นก็เป็นอลูมิเนียม โดยชุดเดินรางบางรุ่นเดินรางโดยใช้โซ่ขับ บางรุ่นเดินรางโดยใช้ฟันเฟือง และสามารถตัดได้โดยแทบไม่จำกัดรูปทรงของคอนกรีต ไม่ว่าจะเป็น ตัดพื้นคอนกรีต (เหมือนรถตัดพื้น), ตัดคานคอนกรีต,ตัดเสาคอนกรีต, ตัดผนังคอนกรีต อย่างนี้เป็นต้น แต่ถ้าโครงสร้างคอนกรีตที่หนามากและรูปทรงคอนกรีตนั้น ๆ ไม่สามารถติดตั้งเครื่องให้ตัดด้านฝั่งตรงกันข้ามได้ คอนกรีตชิ้นที่ต้องการรื้อถอนหรือยกออกนั้นก็จะไม่ขาดและไม่สามารถยกออกได้ ก็ต้องเปลี่ยนเป็นเครื่องมือชนิดอื่น ๆ เช่น เครื่องตัดไวร์ซอว์ (WIRE SAW)ซึ่งจะได้กล่าวในบทต่อไปนี้เนื่องจากเครื่องตัด WALL SAW สามารถตัดคอนกรีตได้ไม่จำกัดรูปทรง, น้ำหนักค่อนข้างเบา, ใช้งานง่าย เดี๋ยวนี้มีเครื่องผลิตในประเทศจีน ออกจำหน่ายราคาค่อนข้างถูก ประมาณชุดละ 1.6 ล้าน แต่ถ้าเป็นของยี่ห้ออื่นที่มีชื่อเสียง ช่างอ้วนลองถามดูเห็นบอก ว่าอยู่ประมาณ 2.2 ล้าน อ่ะจ๊ะ ถ้าถามความรู้สึกของช่างอ้วนว่า ทั้ง 3 ชนิดของ WALL SAW มีข้อดี, ข้อเสีย, ข้อเด่น, ข้อด้อย แตกต่างกันอย่างไร ผมก็ขอตอบว่าไม่แตกต่างกันมากหรอกครับชนิดที่ 1 ชนิดที่คอนโทรลและขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทั้งหมด ดังนี้ คือ น้ำหนักเบา, ติดตั้งง่าย, เคลื่อนย้ายสะดวก แต่กำลังสู้ชนิด2 และชนิด ที่ 3 ไม่ได้ (ความรู้สึกของผมนะ)ชนิดที่ 2 กับชนิดที่ 3 ขับเคลื่อนด้วยระบบไฮดรอลิค อันนี้แน่นอน น้ำหนักตัวชุดตัด อาจเท่ากันหรือใกล้เคียงกับชนิดที่ 1 แต่องค์ประกอบอื่นที่ตามมาคือ ระโยงระยางไปด้วยสายไฮดรอลิค น้ำหนักสายก็พอสมควรและเครื่องตันกำลังคือ เพาเวอร์แพคหรือเพาเวอร์ยูนิตน้ำหนักค่อนข้างสูงและต้องต่อสายยางน้ำหล่อเย็นอีกเส้น แต่ผมมีความรู้สึกว่า ได้กำลังขับที่สูงกว่าทำงานได้ต่อเนื่องกว่า (หรือความรู้สึกผมจะมีอคติกับเครื่องชนิดที่ 1 อยู่บ้างก็ไม่รู้นะ) คือ ท่านที่มีประสบการณ์เคยใช้เครื่องทั้ง 2 ชนิดนี้มาแล้วมีความรู้สึกที่แตกต่างจากนี้ โทรมาเล่าสู่กันฟังบ้างเด้อครับ.คุณสมบัติ ไม่มีฝุ่น แต่มีละอองน้ำ เสียงด้านความถี่ต่ำและถี่ปานกลางไม่มี, มีเสียงความถี่สูง(16-23 KHz )แรงสั่นสะเทือนไม่มี 

เครื่องตัดคอนกรีต (HAND SAW)


เครื่องตัดคอนกรีตชนิดนี้กำลังแรงม้าไม่สูง เพราะต้องใช้มือคนมาพยุงจับเครื่องตัดตลอดเวลา ใช้ใบตัดคอนกรีตทรงกลมขนาด 12” , 14”, 16” เท่านั้น ตัดคอนกรีตได้ลึกไม่เกิน 14 -15 เซนติเมตร เหมาะสำหรับงานรื้อถอนโครงสร้างคอนกรีตที่ไม่หนามาก เช่น งานรื้อถอนตัดผนังคอนกรีต เพื่อเปิดเป็นช่องประตู, ช่องหน้าต่าง งานตัดผนังคอนกรีตตามโรงพยาบาล, คอนโด, ห้างสรรพสินค้า เพื่อรื้อผนังคอนกรีตเก่าทิ้ง แล้วกั้นห้องทำการตกแต่งใหม่ โดยต้องใช้งานร่วมกับ เครื่องหนีบคอนกรีตระบบไฮดรอลิคแบบมือถือ โดย เครื่องตัด HAND SAW ทำหน้าที่ตัดเปิดช่องให้หัวหนีบสามารถมุดเข้าไปหนีบได้ช่วงแรก ๆ เท่านั้น คุณสมบัติ เช่นเกี่ยวกับ FLOOR SAW, และ WALL SAW คือ
1. ไม่มีฝุ่น แต่มีละอองน้ำ เสียงมีฝั่งความถี่สูง แรงสั่นสะเทือนไม่มี

เครื่องตัดคอนกรีต (WIRE SAW)


   

โซ่เพชรหรือสลิงเพชรสำหรับตัดคอนกรีต (ใช้กับเครื่องตัด WIRE SAW )

เครื่องตัดคอนกรีตชนิดนี้ถือว่าเป็นพระเอกหรือที่สุดของเครื่องมืองานรื้อถอนโครงสร้างคอนกรีต ซึ่งลักษณะและข้อจำกัดการใช้งาน เหมือน WALL SAW ทุกประการ แต่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงตรงที่ว่าสามารถตัดคอนกรีตได้ไม่จำกัดความหนาของคอนกรีต ไม่จำกัดรูปทรงของคอนกรีต และสามารถตัดคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีเหล็ก ข้างในเส้นโต และจำนวนมากได้ โดยเครื่องตัดชนิดนี้ใช้กับเส้นลวดสลิง ที่ล็อกบรอนด์เม็ดเพชรอยู่เป็นข้อ ๆ ระยะห่างแต่ละข้อของเม็ดเพชร ประมาณ 15 มิล สามารถตัดสลิงเพชรให้ยาวเพื่อโอบหรือกดคอนกรีตที่ ต้องการตัดให้ขาดเพื่อยกออกนั้นได้โดยไม่จำกัดความยาวของสลิงเพชร ด้วยเหตุนี้เครื่องตัด WIRE SAW จึงแตกต่างจากเครื่องตัดคอนกรีต ชนิดอื่น จึงเหมาะสำหรับงานรื้อถอนตัดคอนกรีตที่มีโครงสร้างใหญ่มาก (ที่เครื่องตัด WALL SAWไม่สารถตัดให้ขาดได้) เช่น งานตัดคอนกรีตขนาดใหญ่ งานตัดแท่นเครื่องจักรที่หนามากและใหญ่มาก งานรื้อถอนตัดรื้อสะพานคอนกรีต งานรื้อถอนตัดเสาคอนกรีตขนาดใหญ่ เช่นงานตัดเสาทางด่วน งานตัดเสาตอม่อขนาดใหญ่ในดิน เป็นต้น เครื่องตัด WIRE SAW ชนิดนี้มีหลายรุ่น หลายยี่ห้อแต่ละรุ่นรูปทรงและระบบที่ใช้ตลอดจนถึงการคอนโทรลก็แตกต่างกันออกไปมีทั้งชนิดที่ใช้ไฟฟ้าล้วน ๆ ชนิดที่ใช้ระบบไฮดรอลิคล้วน ๆ และชนิดลูกผสมทั้งไฟฟ้าทั้งไฮดรอลิคก็มีแต่คุณภาพและความเร็วในการตัดทั้ง 3 ชนิดนี้ จะไม่ค่อยแตกต่างกันมากนักเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก ๆ เช่น ยี่ห้อของสลิงเพชร(บางที่เรียกโซ่เพชร) อันนี้หมายถึงคุณภาพของสลิงเพชรนะครับ อีกอย่างคือ ความเร็วรอบที่ตัดต้องสัมพันธ์กันกับแรงกดหรือแรงดึงของสลิงเพชร ส่วนกำลังแรงม้าในการ ฉุด ลากสลิงเพชร ช่างอ้วนมีความรู้สึกส่วนตัวว่า ชนิดที่ 1 คือชนิดที่ขับเคลื่อนและคอนโทรลด้วยระบบไฟฟ้าอาจเป็นรองชนิดที่ 2 และ 3 นิดหน่อย ตรงที่เวลาเม็ดเพชรมันติด หรือเกาะเกี่ยวกับร่องเหล็กที่อยู่ภายในคอนกรีต เกิดอาการล๊อก กระตุกไม่ออก เครื่องชนิดนี้จะไม่ค่อยมีแรงตีนต้นในการขับโซ่หรือสลิง อาจเนื่องมาจากมอเตอร์ไฟฟ้าที่ขับจานโซ่หรือจานสลิงนั้นมีเซ็นเซอร์ตรวจจับอัตราการกินกระแสของมอเตอร์ส่งผ่านเข้าไปในวงจรตรวจจับ ในกล่องเพาเวอร์อินเวอร์เตอร์(บางที่เรียกกล่องนี้ว่า เพาเวอร์แพค หรือเพาเวอร์ยูนิตเหมือนกัน) จึงท าให้กล่องเพาเวอร์ตัวนี้ไม่ปล่อยแรงเคลื่อนไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้าออกมา ทำให้จานขับสลิงไม่มีแรงดึงโซ่ออกจากเหล็กได้ จ าเป็นที่ช่างทีทำการตัดนั้น ต้องหยุดเครื่องเพื่อไปดึง หรือกระตุกสลิงให้โซ่หลุดจากปากเหล็ก บางทีอาการนี้ใช้เวลาค่อยข้างนาน พอใช้มือดึงโซ่ออกจากปากเหล็กเสร็จก็คอนโทรลให้จานขับสลิงหมุนอีก บางทีสลิงก็ติดอีกเพราะมอเตอร์ไฟฟ้าขับจานช่วงแรก ๆ ดูแล้ว จะไม่ค่อยมีแรง หรือเครื่องหน่วงเวลานิดนึง ซึ่งแตกต่างจาก ระบบไฮดรอลิค คือถ้าเปิดวาล์ว ON เต็ม กำลังขับจานก็พุ่งพรวดเต็มที่สะใจวัยรุ่นไปเลย(อันนี้อธิบายตามความรู้สึกของผม คนเดียวนะครับอย่าเชื่อจนกว่าคุณจะได้ลอง) 

เครื่องหนีบคอนกรีต (HYDRUALIC CRUSHER)



เครื่องหนีบผนังคอนกรีต ชนิด มือถือ(ตัวเล็ก ) HYDRUALIC CRUSHER 
ตัวอย่างภาพด้านบนเป็นงานหนีบรื้อผนัง โรงพยาบาลพระราม 9 ,โรงพยาบาลพญาไท 1



เครื่องหนีบคอนกรีต ชนิดที่ติดตั้งกับรถแบคโฮ (ตัวใหญ่ ) HYDRUALIC CRUSHERตัวอย่าง 3 ภาพ ด้านบนนี้ เป็นการหนีบพื้นบันได, คานคอดิน ที่ห้างสรรพสินค้าสกายแลนด์ จ.อุดรธานี เครื่องมือรื้อถอนโครงสร้างคอนกรีตชนิดนี้ เป็นเครื่องมือที่ขับเคลื่อนกลไก ด้วยระบบไฮดรอลิค แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่ 1 มือถือ (ตัวเล็ก ๆ น้ำหนักเบา สามารถหอบหิ้วขึ้นไปทำงาน บนตึก บนอาคารได้)ชนิดที่ 2คือ ชนิดที่ติดตั้งกับรถแบคโฮ (ตัวใหญ่น้ำหนักเยอะคนแบกไม่ไหว)อธิบาย ชนิดที่ 1เนื่องจากเป็นหัวหนีบคอนกรีตตัวเล็กน้ำหนักเบา จึงเหมาะที่จะใช้หนีบคอนกรีต, หนีบผนังคอนกรีตบนตึก บนอาคารต่าง ๆ เช่น งานหนีบรื้อผนังอาคาร หนีบรื้อพื้นซิ้งอ่างล้างหน้าในห้องน้ำและโครงสร้างคอนกรีตอื่น ๆ ที่ความหนาไม่เกิน 25 เซนติเมตร แทนการใช้ ค้อนปอนด์ทุบ ซึ่งทำให้เสียงดังมากและแรงสั่นสะเทือนสูง เหมาะสำหรับการรื้อถอนโครงสร้างคอนกรีตที่ต้องการความเงียบ และไม่มีแรงสั่นสะเทือน เช่น หนีบรื้ออาคารโรงพยาบาล, หนีบรื้ออาคารคอนโดมิเนียม,หนีบรื้อห้างงสรรพสินค้า, หนีบรื้ออาคารพาณิชย์, หนีบรื้อทาวน์เฮ้าท์ที่ต้องการความเงียบ และไม่ต้องการแรงสั่นสะเทือน ที่เป็นการรบกวนชาวบ้านหรือห้องที่อยู่ติดกัน อย่างนี้เป็นต้นอธิบายชนิดที่ 2เป็นหัวหนีบขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ที่ติดตั้งกับปลายอาร์มรถแบคโฮ สามารถหนีบรื้อโครงสร้างคอนกรีตที่หนาไม่เกิน 70 เซนติเมตร ได้ มีหลายรุ่นหลายขนาดให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม ข้อเสีย คือ ไม่สามารถหนีบโครงสร้างคอนกรีตที่อยู่สูงเกิน 8 เมตรได้ เพราะบูมแบคโฮเอื้อมไม่ถึง ข้อดี คือ เป็นการรื้อถอนโครงสร้างคอนกรีตที่ราคาถูกกว่าวิธีการตัดยก แรงสั่นสะเทือนน้อยไม่มีเสียงรบกวน ชาวบ้าน ฝุ่นน้อย และความรวดเร็วในการรื้อ เป็นต้น

เครื่องสกัดคอนกรีต BRAKER HAMER


สกัด หรือ หัวแย๊กชนิดติดตั้งกับเครื่องจักรแบบโมบาย

บางท่านเรียกหัวแย๊ก, บางท่านเรียกหัวนก, บางท่านเรียกหัวเจาะ, บางท่านเรียกสกัด ก็แล้วแต่จะเรียกตามสบายครับ แต่มีชื่อเรียกชื่อหนึ่งที่ชาวบ้านเขาชอบเรียก คือ “หัวเจาะ” ผมเข้าใจว่า หัวเจาะคอนกรีต, เครื่องเจาะคอนกรีต ลักษณะการใช้งาน น่าจะทำให้คอนกรีตเป็นรู (ผมเข้าใจเองนะครับ) ส่วนเครื่องสกัดคอนกรีต, เครื่องแย๊กคอนกรีต, หัวนก อันนี้น่าจะใกล้เคียงและน่าจะใช่ เพราะชื่อมันบอกว่าเกี่ยวกับการเคาะ, การทุบ, การตีเครื่องสกัดคอนกรีต มีอยู่หลายขนาด หลายชนิด เช่นกัน อาจแบ่งออกเป็นกว้าง ๆ ดังนี้ 

- ชนิดมือถือ (ใช้กับแรงงานคน) 
- ชนิดติดตั้งกับเครื่องจักรแบบโมบาย 

ชนิดมือถือที่ใช้กับแรงงานคน มีทั้งชนิดที่ใช้ระบบไฟฟ้า, ชนิดที่ใช้ระบบไฮดรอลิค, ชนิดที่ใช้ระบบนิวเมตริกหรือใช้ลม เครื่องสกัดคอนกรีต ต่าง ๆ เหล่านี้ส่วนมากจะใช้ในการตกแต่งงานคอนกรีต และอาจใช้ในการรื้อถอน, ทำลายโครงสร้างคอนกรีตขนาดปานกลางได้ถ้าไม่มีหนทางหลีกเลี่ยงที่จะใช้วิธีอื่น ๆ แล้ว แต่แรงงานคนก็ต้องมีเปลี่ยนกะ มาก ๆ ด้วยนะครับ สกัดเล็กที่ใช้ได้ในลักษณะนี้มีชนิดเดียวเท่านั้นที่พอทนได้ คือสกัดลม (ระบบนิวเมตริก) ส่วนระบบไฟฟ้าก็คงร้อนสู้ไม่ไหว,ระบบไฮดรอลิคก็หนักมากกว่าระบบลม คนงานจะเหนื่อยล้ามาก พรุ่งนี้ถ้าไม่ขาดงานก็ลาออกไปเลยชนิดที่ติดตั้งกับเครื่องจักรแบบโมบายที่ท่านเห็นติดตั้งอยู่กับรถแบคโฮ, บางท่านก็ดัดแปลงไปติดตั้งกับรถโฟลคลิฟท์, บางท่านก็ดัดแปลงไปใช้กับรถบ๊อบแคท ต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นเครื่องมือเครื่องจักร ที่รื้อถอนโครงสร้างคอนกรีต และเป็นไม้เบื่อไม้เมากับคอนกรีตมาช้านาน ทุกวันนี้อาจลดบทบาทลงไปบ้าง เพราะมีวิธีอื่น ๆ ให้เลือกใช้ หัวสกัดคอนกรีต อาจแพ้คุณสมบัติของเครื่องมือชนิดอื่นก็ตรงที่ เสียงดังมาก,ฝุ่นมาก,แรงสั่นสะเทือนมาก แต่ถ้าเป็นการรื้อถอนโครงสร้างคอนกรีตที่ห่างจากชุมชนหน่อย ห่างจากอาคารโรงงานหน่อย เจ้าหัวสกัดคอนกรีตติดแบคโฮชนิดนี้ ก็จะกลับมาเป็นพระเอกอีกครั้ง ซึ่งข้อดีของการใช้หัวสกัดติดแบคโฮนี้ คือ ราคาถูกที่สุด ถูกกว่าวิธีรื้อถอนโครงสร้างคอนกรีตแบบอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้วทั้งสิ้นเครื่องเจาะคอนกรีต (CORING) ,และ ไวร์ซอว์วงเวียน ( ZERO WIRE SAW)เครื่องเจาะรูคอนกรีต หรือ เครื่องเจาะคอนกรีต หมายถึง เครื่องที่ทำให้คอนกรีต เป็นรู เครื่องที่ใช้ก็จะเริ่มจาก สว่านเจาะคอนกรีต เครื่องเจาะชนิดใช้ลม หัวเจาะคาร์ไบด์ (ROCK DRILL) เครื่องเจาะกระบอกเพชร (CORING)แล้วก็ไวร์ซอว์ชนิดวงเวียน ZERO WIRE SAW แต่ละชนิดแต่ละแบบก็มีจุดประสงค์เดียวกัน คือ ทำให้คอนกรีตเป็นรู จะเพื่อจุดประสงค์หรือความต้องการให้คอนกรีตมี รูเล็ก, รูใหญ่ความลึกของรูเท่าไร แต่ละท่านที่ต้องการเจาะรูคอนกรีต จะมีความจำเป็นและความต้องการที่ไม่เหมือนกัน บางท่านเจาะรูเล็ก ๆ ประมาณ 10 มิล –20 มิล เพื่อฝังพุกเคมี หรือเพื่อเสียบเหล็กผสมอีพ็อกซี่ เพื่อกันเหล็กหลุดเหล็กถอน เวลาเทคอนกรีตทับพื้นเก่า บางท่านต้องการรูโตขึ้นมาหน่อยเพื่อสอดวางท่อระบายน้ำเจาะเพื่อวางสตัดเกลียว BOLT เจาะรูไข่ปลาให้เหล็กข้างในขาดเพื่อยกก้อนคอนกรีตออก (งานรื้อถอน) เจาะเพื่อฝัง J/BOLT เพื่อล๊อกเครื่องจักร หรือจุดประสงค์อื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งตารางต่อไปนี้เป็นตารางเปรียบเทียบความสามารถหรือคุณสมบัติของเครื่องเจาะแต่ละชนิดที่ไม่เหมือนกัน


ชนิดของเครื่อง

เจาะคอนกรีต X

 

เจาะรูผ่านเหล็ก


 

Øเจาะรูโตสุด

 

เจาะลึกสุด

 

ลักษณะการเจาะจง

 

มลภาวะ


HAMER DRILL

สว่านเจาะปูน


 

ไม่ได้

 

42 mm.

 

300 mm.

 

ทุกท่าองศา


มีเสียง,ฝุ่น,สะเทือน


ROCK DRILL

สว่านเจาะหิน

(ใช้แรงลม)


 

ไม่ได้

 

55 mm.

 

4 เมตร

 

พื้น,ผนัง


เสียงดัง,ฝุ่นมาก,สะเทือน


ELECTRIC CORING

เครื่องเจาะคอริ่ง

ระบบไฟฟ้า


 

ได้

 

355 mm.

 

1 เมตร

 

เจาะหงายท้องไม่ได้


ไม่ดัง,ไม่ฝุ่น,ไม่สะเทือน


HYDRAULIC CORING

เครื่องเจาะคอริ่ง

ระบบไฮดรอลิค


 

ได้

 

600 mm.

 

4 เมตร

 

ได้ทุกท่าองศา


ไม่ดัง,ไม่ฝุ่น,ไม่สะเทือน


ZERO WIRESAW

ไวร์ซอว์วงเวียน


 

ได้

 

5 เมตร

 

1.5 เมตร

 

พื้น,ผนัง


ไม่ดัง,ไม่ฝุ่น,ไม่สะเทือน


หมายเหตุ ตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติของเครื่องเจาะ จุดนี้ ค่าของตัวเลขอาจมีคลาดเคลื่อนไปบ้าง แล้วแต่ความสามารถและความ พยายามของช่างผู้ปฏิบัติงาน 

เครื่องเบ่งคอนกรีต (CONCRETE SPLITTER) 

เป็นอีกเครื่องมือชนิดหนึ่ง ที่นิยมมาใช้ในงานรื้อถอนโครงสร้างคอนกรีต ลักษณะงานจะเป็น การรื้อถอนแบบทำลาย สามารถเบ่งแยก คอนกรีตออกเป็นก้อน ๆ ได้ ส่วนมากจะใช้งานร่วมกับเครื่องมือชนิดอื่น ๆ เช่น เครื่องตัดเหล็ก และเครื่องสกัดคอนกรีต เป็นต้น เครื่องเบ่งคอนกรีต สามารถเบ่งให้คอนกรีตแตก หรือแยกออกจากกันเป็นแนวเป็นก้อนได้ แต่ยังไม่สามารถทำให้โครงสร้างเหล็กที่อยู่ในก้อนคอนกรีตนั้นขาดจากกันได้รอยเบ่งที่แตกร้าวก็จะเป็นประโยชน์สำหรับเครื่องสกัดที่จะทำหน้าที่ต่อไป คือถ้าไม่มีเครื่องเบ่งทำให้คอนกรีตร้าวหรือแตกก่อน หัวสกัด หรือหัวแย๊ก ก็จะทำงานหนักคือต้อง สกัดดิบผ่าเหล็ก บางทีก็ไม่แตก แต่ถ้าเป็นงานชนิดปอกคอนกรีต เช่นต้องการเอาเนื้อคอนกรีตออกให้หมด แต่โครงสร้างเหล็กทั้งหมดเอาไว้เหมือนเดิม เพื่อทาบเหล็กแล้วเทคอนกรีตใหม่ เครื่องมือชนิดนี้ก็จะเป็นฮีโร่ทันที และเครื่องมือชนิดนี้สามารถคอนโทรลหรือบังคับแนวแตกของคอนกรีตได้ เพราะฉะนั้นงานปอกคอนกรีตเพื่อล้วงเอาไส้ในออก จึงเป็นงานที่ไม่ลำบากนัก และเหล็กที่ต้องการให้เหลือไว้ทาบหรือไว้ใช้งานอื่น ๆ ก็จะเรียงตัวสวยงามเหมือนเดิม ไม่เสียรูป ไม่คดงอ แต่ถ้าเป็นวิธีปอกโดยใช้หัวแย๊กอย่างเดียวละก็ต่อให้คนขับแบคโฮเซียนแค่ไหน ก็คงได้เห็นถั่วงอกบนพื้นปูนแน่นอน(ส าหรับโครงสร้างคอนกรีตที่ใหญ่ ๆ ) เช่น งานปอกเสาทางด่วน, งานปอกแผงกั้นดิน (DIAFRAM WALL) เป็นต้นสรุปเครื่องเบ่งคอนกรีต (CONCRETE SPLITTER) นี้ เหมาะสำหรับงานปอกคอนกรีตให้สวยงามรวดเร็ว ไม่ทำลายโครงสร้างคอนกรีตส่วนที่ไม่ต้องการเอาออกนั้นแตกร้าวเสียหาย แต่ถ้าเป็นโครงสร้างคอนกรีตที่ไม่โตมากนัก เช่น คานคอนกรีต เสาคอนกรีตเล็ก ๆ ก็อาจใช้สกัดไฟฟ้า สกัดลม (ใช้แรงงานคน) สกัดตกแต่งไปเรื่อย ๆ งานที่ออกมาก็จะสวยเหมือนกัน แต่ใช้เวลาค่อนข้างมาก, คนงานค่อนข้างเหนื่อยล้า



 
อีเมล์
รหัสผ่าน
ลืมรหัสผ่าน
สมัครสมาชิก
 
 
 
ผู้ชม
วันนี้ 12
เมื่อวาน 19
ทั้งหมด 374,182
ชมหน้าอื่นๆ
วันนี้ 12
เมื่อวาน 21
ทั้งหมด 554,890
 
เว็บสำเร็จรูป
×